♪♫♭ ยินดีต้อนรับสู่บล็อกศิลปะ/Art... o(≧ω≦)o ~♫ ♪ ♭♪ คุณคิดว่าศิลปะคืออะไร?

วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ความหมายของศิลปะ


ศิลปะ (ART)


ความหมายของศิลปะ "ศิลปะคืออะไร อย่างไรจึงเรียกว่าเป็นศิลปะ"
ใครต่อใครชอบพูดถึง "ศิลปะ" กันมากมาย บ้างก็ว่า "เขามีหัวทางศิลปะ" บ้าง "เรามันคนไม่มี
ศิลปะ" บ้างบางครั้งเราอาจพูดถึง ศิลปะโดยไม่รู้ตัว เพราะศิลปะแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของเราอยู่ตั้งแต่
เช้าจรดเย็น เช่น"โอ้ โฮ วันนี้เธอแต่งตัวสวยเชียว ดูเข้ากันไปหมดตั้งแต่ผมลงไปถึงเท้า" หรือ "บ้านของเธอตกแต่ง ได้งดงามมาก" "หมอนั่นมีศิลปะในการโกงสูงมาก" เมื่อเราพูดถึงศิลปะ เรารู้หรือไม่ว่า ศิลปะคืออะไร อย่างไรจึงเรียกว่าเป็นศิลปะ เรามาดูกันดีกว่า
     ความหมายของศิลปะ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2530 หมายถึง ผลแห่งความคิดสร้างสรรค์ ของมนุษย์ที่แสดงออกมาในรูปลักษณ์ต่าง ๆ ให้ปรากฏ ซึ่งสุนทรียภาพ ความประทับใจ หรือความสะเทือนอารมณ์ ความอัจฉริยภาพ พุทธิปัญญา ประสบการณ์ รสนิยม และทักษะของแต่ละคน เพื่อความพอใจ ความรื่นรมย์ ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีหรือ ความเชื่อทางศาสนา นอกจากนั้นนักปรัชญาได้นิยามความหมายของศิลปะไว้ มากมาย ดังเช่น
    
          ศิลปะ คือการถ่ายทอดความรู้สึก ศิลปะเป็นวิธีสื่อสารความรู้สึกระหว่างมนุษย์ด้วยกัน (เรโอ ตอลสตอย : Leo Tolstoi)
          ศิลปะ เกิดจากความเมาหรือความเพลิน ช่วยให้เราได้รับความเพลิดเพลินในชีวิต ด้วยเหตุนี้ โลกที่น่าเกลียดจึงเปลี่ยนแปลงไปเป็นโลกที่น่ารักเพราะศิลปะ (ไดโอนิซุส : Dionisus)
          ศิลปะ ได้แก่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ในเมื่อธรรมชาติไม่สามารถอำนวยให้
(หลวงวิจิตรวาทการ)
          ศิลปะ หมายถึงงานอันเป็นความพากเพียรของมนุษย์ ซึ่งต้องใช้ความพยายามด้วยมือและด้วยความคิด (ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี)
          ศิลปะ คือการเลียนแบบธรรมชาติ
          ศิลปะ คือการแสดงออกทางความงาม
          ศิลปะ คือภาษาชนิดหนึ่ง
          ศิลปะ คือการรับรู้ทางการเห็น
          ศิลปะ คือการกระทำทุกอย่างที่มนุษย์ต้องการสร้างขึ้น เพื่อให้มีความงาม ความแปลก และมีประโยชน์เท่าที่ความสามารถและแรงดลใจของมนุษย์จะแสดงให้ปรากฏได้
     จากการนิยามความหมายดังกล่าวพอสรุปได้ว่า ศิลปะ คือสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อความงามและความพึงพอใจ
กล่าวกันว่าการสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่เกิดมาจากความคิดสร้างสรรค์เป็นคุณสมบัติที่ติดตัวมากับมนุษย์เสมอหน้ากันจนดูเหมือนว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย เลยทีเดียว ขึ้นอยู่กับว่าใครจะใช้มันมากกว่าใคร แล้วความคิดสร้างสรรค์คืออะไร และ เกิดได้อย่างไร



  


     การสร้างสรรค์มี 3 ส่วนประกอบที่สำคัญ ได้แก่
          1. การรับรู้ (Perception) เพราะเราจะมีความคิดสร้างสรรค์ได้ จะต้องพบเห็นสิ่งต่างๆ มากๆ มีการรับรู้มาก และต้องพยายามสังเกตจากการรับรู้รั้น
          2. จินตนาการ (Inagination) ซึ่งเกิดจากการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัส เมื่อรู้มาก เห็นมาก จึงทำให้เกิด ความคิดมาก และมีจินตนาการต่อสิ่งต่างๆ มาก จินตนาการจึงเกิดจากการรับรู้ของเราต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว เสริมด้วยความคิด การใช้จินตนาการแบบอุดมคติคืการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ด้วยรูปแบบที่ไม่เหมือนใคร
          3. ประสบการณ์ (Experience) เป็นผลจากการรับรู้ เรียนรู้ หรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาก่อนแล้วเก็บสะสมไว้ ในสมอง และรอจังหวะที่จะแสดงออกมา
  ถ้าศิลปะเป็นสิ่งที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของมนุษย์ นั่นแสดงว่า สิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์คิดค้นกระทำขึ้นมาทั้งที่เป็นเรื่องใหม่ ๆ หรือเป็นเรื่องที่ทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม เป็นงานศิลปะหรือไม่แล้ว แนวคิดใหม่ๆ วิธีการใหม่ๆ ประดิษฐ์กรรมใหม่ๆ ความเชื่อใหม่ๆ ศาสนาใหม่ๆ ตลอดจนถึงการดำรงชีวิตแบบใหม่อาวุธใหม่ๆ การสร้างความหายนะให้กับผู้อื่นด้วยวิธีการใหม่ๆ ก็เป็นศิลปะด้วยหรือไม่การคดโกง คอรัปชั่นด้วยวิธีการใหม่ๆ ด้วยชั้นเชิงที่แนบเนียน สร้างความเสียหายใหญ่หลวง จะถูกยกย่องว่าเป็นผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมหรือไม่
     ยังไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นยังไม่ใช่ศิลปะทั้งหมด เพราะ "ศิลปะคือสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อความงามและความพึงพอใจ" ฉะนั้นสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น โดยไม่มีความงาม และความพึงพอใจ จึงไม่ใช่ศิลปะ

     ความงาม และความพึงพอใจของศิลปะ จะเกิดขึ้นกับผู้ชมในเบื้องต้นที่พบเห็น  และต่อไปจะก่อให้เกิด ความสะเทือนใจ  ด้วยอารมณ์ทางสุนทรียะในผลงานศิลปะนั้น 
ความงามในงาน ศิลปะ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
          1. ความงามทางกาย (Physical Beauty) เป็นความงามของรูปทรง ที่กำหนด เรื่องราว หรือเกิดจากการ ประสานกลมกลืนกัน ของทัศนธาตุ เป็นผลจากการ จัดองค์ประกอบทางศิลปะ คือ เส้น สี แสงเงา รูปร่าง รูปทรง พื้นผิว และน้ำหนัก โดยมีหลักการที่สำคัญคือ ความสมดุลย์ สัดส่วน จังหวะ ความกลมกลืน ความขัดแย้ง และจุดเด่น ซึ่งจะกล่าวในเรื่อง "องค์ประกอบศิลป์"
          2. ความงามทางใจ (Moral Beauty) ได้แก่ ความรู้สึก หรืออารมณ์ ที่แสดงออก มาจากงานศิลปะ หรือ ที่ผู้ชมสัมผัสได้จากงานศิลปะนั้น ๆ
     งานศิลปะนั้น มีความงามทั้ง 2 ประเภทอยู่ร่วมกัน แต่อาจแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่ง มากน้อย ขึ้นอยู่กับ ประเภทของงาน เจตนาของผู้สร้าง และการรับรู้ของผู้ชมด้วยความงามในศิลปะ เป็นการสร้างสรรค์แท้ ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับความงามของธรรมชาติ   เป็นความงามที่แสดงออกได้แม้ในสิ่งที่น่าเกลียด หัวข้อ เรื่องราว หรือเนื้อหาที่ใช้สร้างงานนั้นอาจน่าเกลียด แต่เมื่อ เสร็จแล้ว ก็ยังปรากฎความงาม ที่เกิดจากอารมณ์ ที่ศิลปินแสดงออก 

     ดังนั้น ความงามจึงเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่ว่าด้วยความงามที่ศิลปินแสดงออกในงานศิลปะ ซึ่งเรียกว่า "สุนทรียศาสตร์" มีข้อความที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยเรอเนซองค์จนถึงทุกวันนี้ว่า " ศิลปะมิได้จำลองความงาม แต่สร้างความงามขึ้น"